fbpx

“King of fruits”

King of fruits

"ทุเรียน" ที่ได้รับขนานนามว่า "King of fruits"

“ทุเรียน” ผลไม้ที่ได้รับขนานนามว่า “King of fruits” หรือ “ราชาแห่งผลไม้” ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนมากที่สุด
ทุเรียน (Durian) เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจาก มีเนื้อสีเหลืองอร่าม เนื้อกรอบหนา ให้รสหวานมัน และมีกลิ่นหอมแรง จนได้ฉาญาว่า ราชาแห่งผลไม้ ซึ่งมีหลากหลายพันธุ์ให้เลือกรับประทาน ปัจจุบันราคาจำหน่ายกิโลกรัมละประมาณ 50-140 บาท แต่หากเป็นทุเรียนที่หายาก และมีรสอร่อยมาก เช่น พันธุ์ก้านยาว จะมีราคาสูงมากถึงลูกละเป็นหลักพันบาทหรือสูงกว่า
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio zibethenus Linn.
• ชื่อสามัญ
– แฮลแลนด์ : Docrian, Doorian, Strinkvrucht
– อังกฤษ : Durion, Civet-cat tree
– ฝรั่งเศส : Durione, Dourian, Dourian, Surian
– เยอรมัน : Durio, Durion, Zibethbaum
อนุกรมวิธาน
– Order : Malvales
– Family : Bombacaceae
– Genus : Durio
– Species : Zibethinus

ประวัติทุเรียน
ถิ่นกำเนิดของทุเรียนนั้น ดั้งเดิมเชื่อกันว่าอยู่ในแถบเมืองทะวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีของประเทศพม่า ซึ่งเป็นทุเรียนป่า และแพร่เข้ามาในประเทศไทยใน 2 ทาง คือ
1. เข้ามาในปีพ.ศ. 2330 พร้อมกับทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลังจากยกทัพกลับจากการไปตีเมืองทะวาย, มะริด และตะนาวศรี ที่ตีไม่สำเร็จ โดยปิดล้อมเมืองนาน 2-3 เดือน ซึ่งขณะปิดล้อมเมืองเป็นช่วงอาหารขาดแคลน ทัพนายกองจึงเข้าหาอาหาร และได้นำเมล็ดทุเรียนติดตัวกลับมาด้วย
2. ทุเรียนจากเมืองทะวาย, มะริด และตะนาวศรี ได้แพร่เข้ามาทางแหลมมาลายูในทางเรือที่ขณะนั้นมีการติดต่อค้าขายกับเมืองของพม่า

พันธุ์ทุเรียน
สายพันธุ์ทุเรียนของไทยมีมากถึง 227 พันธุ์ สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ 6 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มกบ ประกอบด้วย 46 สายพันธุ์ย่อย เช่น กบชายน้ำ กบตาขำ กบแม่เฒ่า กบตาสาย
2. กลุ่มลวง ประกอบด้วย 12 สายพันธุ์ย่อย เช่น อีลวง ชะนี แดงรัศมี
3. กลุ่มก้านยาว ประกอบด้วย 8 สายพันธุ์ย่อย เช่น ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
4. กลุ่มกำปั่น ประกอบด้วย 14 สายพันธุ์ย่อย เช่น กำปั่นตาแพ กำปั่นเนื้อขาว กำปั่นพวง หมอนทอง
5. กลุ่มทองย้อย ประกอบด้วย 14 สายพันธุ์ย่อย เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร
6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นกลุ่มทุเรียนที่ยังไม่สามารถจำแนกกลุ่มไม่แน่ชัด ประกอบด้วย 81พันธุ์
ทุเรียนมีการแพร่เข้ามาในแถบภาคกลางในสมัยปลายอยุธยาจนถึงช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในหนังสือพฤกษา และสัตวาภิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหารที่กล่าวถึงพันธุ์ทุเรียนไว้ 68 พันธุ์
ที่มา : สืบศักดิ์ นวจินดา (2510)(1)

พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้อธิบายถึงประวัติทุเรียนในหนังสือพิมพ์กสิกร ปี พ.ศ. 2492 ว่า การแพร่กระจายทุเรียนเข้ามาในกรุงเทพมหานครหรือภาคกลางเริ่มมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณปี พ.ศ. 2318 และชาวบ้านเริ่มทำสวนทุเรียนครั้งแรกในตำบลบางกร่าง บริเวณแถวคลองบางกอกน้อย ในช่วงปี พ.ศ. 2397 โดยในช่วงแรกนิยมปลูกด้วยเมล็ด แต่ต่อมานิยมปลูกด้วยกิ่งตอน ซึ่งมี 3 พันธุ์ที่นิยม คือพันธุ์อีบาตร พันธุ์ทองสุข และพันธุ์การะเกด
ลักษณะทางพฤกษศาตร์

ลำต้น
ทุเรียนเป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูง 20-40 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-120 เซนติเมตร มีอายุได้นานกว่า 80-100 ปี หรือมากกว่า เปลือกลำต้นมีสีเทาแก่ เปลือกแข็งเป็นสะเก็ด และแตกเป็นทางยาว ลำต้นมีเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน ไม่นิยมนำมาแปรรูป แต่อาจใช้สับเป็นไม้เพาะเห็ดหรือใช้ทำปุ๋ยได้ กิ่งแขนงมีลักษณะกลม และเล็ก กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลเทาหรือสีทองแดง
ทรงพุ่มทุเรียน มี 3 แบบ ได้แก่
– ทรงพุ่มสีเหลี่ยม ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว
– ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ ฐานกว้าง ได้แก่ พันธุ์ชะนี
– ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ ฐานแคบ ได้แก่ พันธุ์กบต่างๆ

ใบ
ใบทุเรียนเป็นใบเลี้ยงคู่ เกิดสลับกันตรงกันข้ามบนกิ่ง ใบมีลักษณะหนา และแข็ง กว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ไม่มีหูใบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนด้านล่างของใบมีสีน้ำตาล และมีขนปกคลุม เส้นกลางใบ และก้านใบมีสีน้ำตาล ก้านใบมีสองตอน ครึ่งท่อนแรกจากฐานใบมีขนาดใหญ่ และครึ่งท่อนหลังจนถึงกิ่งมีขนาดเรียวเล็กลง ใบอ่อนมีลักษณะพับที่เส้นกลางใบเข้าหากัน

ดอก
ดอกทุเรียนมีลักษณะเป็นช่อ และเป็นดอกสมบูรณ์เพศ แทงออกตามตาของกิ่งที่แยกออกจากลำต้น ดอกระยะแรกมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆสีน้ำตาลเข้ม แล้วค่อยเจริญเป็นดอกตูม ดอกจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยง กลีบรองดอก และกลีบดอก ด้านในดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ดอกแต่ละช่อมีดอก 5-30 ดอก
– กลีบเลี้ยง เป็นกลีบชั้นนอกสุดของดอกทุเรียน มีสีน้ำตาลอมเขียว โดยขณะดอกอ่อนหรือดอกตูม กลีบเลี้ยงนี้จะหุ้มดอกไว้หมด เมื่อดอกบานออก กลีบเลี้ยงจะแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก
– กลีบรอง เป็นกลีบชั้นกลาง มีสีขาว ชาวบ้านเรียกว่า หม้อตาล เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับหม้อตาลโตนด บริเวณฐานมีลักษณะเป็นกระเปราะโปร่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. ซึ่งเป็นบริเวณที่เก็บน้ำหวานของดอก กลีบจะมีสีขาวอมน้ำตาลหรือเป็นสีเหลือง
– กลีบดอก มีลักษณะมน สีขาวนวล เรียงซ้อนกันเล็กน้อย กลีบดอกจะมีประมาณ 4-5 กลีบ
ผล และเมล็ด
ผลทุเรียนจัดเป็นผลเดี่ยว ผลมีหลายแบบ อาทิ กลม กลมรี ก้นป้าน ผลมีเปลือกหนา และเป็นหนามรูปปิรามิด ผลมีลักษณะเป็นร่องเหลี่ยม เรียกว่า “พู” ด้านในประกอบด้วยเมล็ด และเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีต่างๆ ตั้งแต่สีขาวเหลือง เหลืองอ่อนจนถึงสีจำปา แต่ละพูมี 1-3 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ขนาดเมล็ดใหญ่ มีสีต่างๆ ตามพันธุ์ เมล็ดแก่จัดมีสีน้ำตาลอมเหลืองหรืออมแดง

สรรพคุณทุเรียน
รากทุเรียน (รสขมอมฝาด)
– ช่วยลดไข้
– รักษาอาการท้องร่วง
ใบทุเรียน (รสขมอมฝาด)
– ใช้บรรเทาอาการไข้
– แก้ดีซ่าน
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยรักษาแผล แก้แผลมีน้ำหนอง

เปลือกทุเรียน (รสขมอมฝาด)
– ใช้รักษาอาการผื่นแพ้
– ใช้รักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยสมาน และรักษาแผล
– ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย
– แก้แผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก
– รักษาฝี
– แก้โรคตานซาง

เนื้อทุเรียน (รสหวาน และออกร้อนเล็กน้อย)
– ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด
– ช่วยบำรุงกำลัง ให้พลังงาน และความร้อนแก่ร่างกาย
– ช่วยพักฟื้นจากโรคหรือหายจากบาดแผลได้เร็ว
– รักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยให้ฝียุบ และแห้งเร็ว
– ช่วยขับพยาธิ

พันธุ์แบ่งตามน้ำหนัก และขนาดผล
1. ทุเรียนพันธุ์เบา
พันธุ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทองเป็นพันธุ์ที่ตกผลเร็ว ระยะปลูกระหว่างต้นหรือแถวประมาณ 10 x 10 เมตร ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูก (กิ่งตอน) ถึงให้ผลผลิตใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ก่อนดอกจะเริ่มผลิประมาณ 163 – 165 วัน ผลจะแก่เก็บได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม

2. ทุเรียนพันธุ์กลาง

พันธุ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์กบต่างๆ ระยะหลุมปลูกประมาณ 11 x 11 เมตร ทุเรียนพันธุ์นี้จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงผลิตผลใช้เวลา 6-8 ปี จะช้ากว่าพันธุ์เบาเล็กน้อย ช่วงระยะที่ดอกเริ่มบานประมาณกลางเดือนกุมภาพันธุ์ จะให้ผลแก่เก็บได้ในช่วงประมาณต้นเดือนมิถุนายน นับระยะเวลาหลังจากดอกบานประมาณ 122-130 วัน

3. ทุเรียนพันธุ์หนัก
พันธุ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์อีหนัก และพันธุ์กำปั่น ระยะปลูกประมาณ 12 x 12 เมตร ใช้ระยะเวลามากกว่า 8 ปี ขึ้นไปนับจากเริ่มปลูก จึงจะให้ผลแก่เก็บได้ ช่วงเวลาบานของดอกจะพร้อมๆ กันกับพันธุ์กลางคือ ประมาณ 140 – 150 วัน ผลจึงจะแก่และเก็บได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม

พันธุ์ที่นิยมปลูก
1. พันธุ์ชะนี
พันธุ์ชะนีมีลักษณะลำต้นเล็ก รูปกรวยคว่ำ ฐานกว้าง แตกกิ่งมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีทรงพุ่มทึบ ใบดก ใบมีรูปไข่ขนาดเล็ก ติดผลเร็วกว่าพันธุ์อื่น ผลจะแก่พร้อมเก็บประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ผลมีรูปทรงกระบอกหรือทรงไข่ ขั้วผลใหญ่ กลางผลใหญ่ ก้นผลแหลม ร่องพูไม่ลึก มีหนามรูปทรงกระโจม หนามมีขนาดใหญ่ และสั้น ระยะหนามห่างกัน ผลมีขนาดปานกลาง นํ้าหนักผลประมาณ 1.5- 4.2 กิโลกรัม เนื้อหุ้มผลบาง มีสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด และเหนียว ส่งกลิ่นฉุนแรง เนื้อผลห่ามให้รสหวานมัน เนื้อผลสุกหรือสุกจัดให้รสหวานจัด เมล็ดภายในค่อนข้างเล็ก และมีเมล็ดน้อย เป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรครากเน่า โคนเน่าได้ดี

2. พันธุ์หมอนทอง
พันธุ์หมอนทองเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุด ลำต้นมีลักษณะรูปกรวยคว่ำ ฐานแคบ แตกกิ่งค่อนข้างห่าง ทรงพุ่มแลดูโปร่ง ใบมีรูปทรงยาวเรียวขนาดใหญ่ ผลมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆ ผลมีรูปไข่ค่อนข้างยาวหรือทรงกระบอก ก้านผลใหญ่ ผลส่วนบนค่อนข้างกว้าง ก้นผลแหลม พูมีขนาดใหญ่ เปลือกบางปานกลาง หนามเป็นเหลี่ยมแหลมยาว มีหนามขนาดเล็กขึ้นแซมประปราย ที่เรียกว่า เขี้ยวงู เนื้อหุ้มเมล็ดหนามาก และหนากว่าทุกพันธุ์ เนื้อสุกมีสีเหลืองอ่อน เนื้อค่อนข้างละเอียด ไม่เหนียวติดมือ เนื้อห่ามให้รสหวานมัน เนื้อสุกจัดให้รสหวานจัด เนื้อมีกลิ่นหอมปานกลาง เมล็ดมีน้อย และมักเป็นเมล็ดขนาดใหญ่หรือเมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ นํ้าหนักผลประมาณ 2.0-4.5 กิโลกรัม เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนทานต่อโรครากเน่า-โคนเน่า

3. พันธุ์กระดุมทอง
พันธุ์นี้ต้นมีลักษณะเป็นทรงกรวย ฐานกว้าง แตกกิ่งห่าง ทำให้พุ่มโปร่ง ใบมีลักษณะกว้าง และสั้น โคนใบมน และปลายใบแหลม แต่ใบมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขั้วผลค่อนข้างเล็ก และสั้น ผลมีลักษณะป้านตรงที่หัว และก้นผล ก้นผลบุ๋มเล็กน้อย ผลสามารถตั้งได้ดี ผลมีขนาดเล็กถึงปานกลาง นํ้าหนักประมาณ 1.0 – 3.5 กิโลกรัม หนามมีขนาดเล็ก และสั้น แต่เกิดถี่ ผลมีร่องพูค่อนข้างลึก เนื้อมีสีเหลืองเข้มค่อนข้างบาง มีเนื้อละเอียด แต่ไม่เหนียวติดมือ ส่งกลิ่นค่อนข้างแรง แต่ให้รสหวานจัด ส่วนเมล็ดมีขนาดใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า

4. พันธุ์ก้านยาว
พันธุ์นี้ต้นมีลักษณะ เป็นทรงกรวย กิ่งขนานกับพื้นดิน กิ่งยาว และทิ้งกิ่งง่าย ใบมีขนาดใหญ่ ปลายใบกว้างสอบมาทางโคนใบปลายใบสอบแหลม ผลมีทรงกลม และสั้น ด้านก้นผลกลมใหญ่ ด้านขั้วผลมน มีก้านผลยาว และยาวมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ไหล่ผลกว้างเรียวไปทางก้นผล พูไม่เห็นเด่นชัด พูเต็มทุกพู ผลค่อนข้างใหญ่ มีนํ้าหนักตั้งแต่ 1.5 – 4.5 กิโลกรัม ผิวของผลมีสีเขียว หนามเล็กถี่สั้นสม่ำเสมอทั้งผล เนื้อละเอียด เนื้อสีเหลือง เนื้อไม่หนา ให้รสหวานมัน กลิ่นไม่แรงมาก มีเมล็ดมีมาก และค่อนข้างใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า
——————————————————————————————————-

เอกสารอ้างอิง
สืบศักดิ์ นวจินดา, 2510. การสำรวจพันธุ์ทุเรียนในจังหวัดปราจีนบุรี.
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์. ทุเรียน…ราชาแห่งผลไม้. ออนไลน์.